วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทบาทพระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อการพัฒนาชาติไทย

ด้านสังคม

(1) การควบคุมกำลังคน

เมื่อ แรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ๆ สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคนอย่างมาก เพราะต้องใช้กำลังคนทั้งการก่อสร้างพระนครใหม่ การป้องกันบ้านเมือง และต้องการไว้รบเพื่อเตรียมทำสงคราม ฉะนั้นระบบไพร่จึงมีบทบาทสำคัญมาก

ระบบ ไพร่ หรือ การควบคุมกำลังคนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงอาศัยระบบไพร่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นรากฐาน จากสภาพทางเศรษฐกิจที่การค้ากับต่างประเทศกำลังเจริญรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน ตลอดจนการเข้ามาของมหาอำนาจตะวันตก มีผลทำให้ระบบไพร่ในสมัยนี้ลดการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวดลง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์แรงงานประจำ เข้าเดือน ออกเดือน รวมแล้วปีหนึ่งต้องถูกเกณฑ์แรงงาน 6 เดือน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 การเข้าเวรทำงานของไพร่หลวงได้รับการผ่อนปรนให้ทำงานน้อยลง โดยทำงานให้รัฐเพียงปีละ 4 เดือน สมัยรัชกาลที่ 2 ได้ลดลงอีกเหลือเพียงปีละ 3 เดือนเท่านั้น และในจำนวนเวลา 3 เดือนที่ต้องเข้าเวรนี้ ถ้าผู้ใดจะส่งเงินมาเสียเป็นค่าราชการแทนการเข้าเวรก็ได้ เดือนละ 6 บาท ปีละ 18 บาท สำหรับไพร่สมนั้น ให้เข้ามารรับราชการด้วยเช่นกันปีละ 1 เดือน หรือจ่ายเป็นเงิน ปีละ 6 บาท

นอกจากนั้น ยังยอมให้ไพร่ที่กระทำผิดแล้วมามอบตัวจะไม่ถูกลงโทษ ให้ไพร่สามารถเลือกขึ้นสังกัดมูลนายได้ตามสมัครใจ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานตราภูมิคุ้มห้ามแก่ไพร่หลวงทุกคน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาไพร่หลวงจะได้รับการยกเว้นอากรค่าน้ำ อากรตลาดและอากรสมพัตสร ภายในวงเงิน 4 บาท (1 ตำลึง) และจ่ายเฉพาะเงินภาษีอากรส่วนที่เกินกว่า 4 บาทขึ้นไป การผ่อนปรนกับไพร่นั้น ยังคงต่อเนื่องมาในสมัยหลัง คือ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงยอมให้ไพร่ถวายฎีกาโดยตรงได้ ในกรณีที่ถูกข่มเหงจากมูลนาย โดยไม่จำเป็นต้องร้องเรียนผ่านตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม

(2) โครงสร้างชนชั้นของสังคม

ใน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โครงสร้างชนชั้นของสังคมยังคงคล้ายกับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มี 2 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นปกครอง และขุนนาง โดยมีรายละเอียดดังนี้

พระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุด พระบรมราชโองการของพระองค์เป็นกฎหมาย พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะดุจสมมติเทพ

พระบรมวงศานุวงศ์

พระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายของพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งของพระบรมวงศานุวงศ์ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

- สกุลยศ หมายถึง ตำแหน่งที่สืบเชื้อสายมาโดยกำเนิด ซึ่งสกุลยศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มี 3 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า

- อิสสริยยศ หมายถึง ตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานหรือเลื่อนยศให้ ซึ่งอิสสริยยศที่มีตำแหน่งสูงที่สุด คือ พระมหาอุปราช

ขุนนาง

ขุน นาง เป็นกลุ่มบุคคลที่ช่วยเหลือกิจการบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขุนนางได้รับการยกเว้นการเกณฑ์แรงงาน และขุนนางในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอิทธิพลและบทบาททางการเมืองสูง

ไพร่

ไพร่ หมายถึง ราษฎรทั่วไปทั้งชายและหญิง ที่มิได้เป็นเจ้านาย ขุนนาง และมิได้เป็นทาส นับเป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุดของสังคม ไพร่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่สำคัญ คือ ไพร่สม ไพร่หลวง และไพร่ส่วย เหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา

ไพร่ หลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้รับการผ่อนผันลดหย่อนเวลาเกณฑ์แรงงาน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ต้องการให้ไพร่เหล่านี้ได้ผลิตสินค้าเพื่อขายสู่ ตลาดมากขึ้น ในสมัยนี้เนื่อง่จากการค้าเจริญรุ่งเรือง ไพร่ส่วยมีความสำคัญมาก เพราะรัฐบาลเร่งเอาส่วยสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปค้าขาย นับเป็นภาระหนักอย่างหนึ่งของไพร่ จึงมีคนจำนวนมากหนีระบบไพร่ โดยการไปเป็นไพร่สมของเจ้านายหรือขุนนางผู้มีอำนาจหรือขายตัวเป็นทาส จนในสมัยรัชกาลที่ 3 ประกาศห้ามขุนนางหรือเจ้านายซ่องสุมกำลังคน

ทาส

ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดของสังคม ทำงานให้แก่นายเงินของตนเท่านั้น ไม่ต้องเข้าเวรรับราชการเช่นไพร่ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้ระบุประเภทของทาสไว้ 7 ประเภท คือ

1. ทาสสินไถ่ คือ ทาสที่ไถ่หรือซื้อมาด้วยทรัพย์


2. ทาสในเรือนเบี้ย คือ เด็กที่เกิดมาในขณะที่พ่อแม่เป็นทาส

3. ทาสที่ได้มาจากฝ่ายบิดามารดา คือ ทาสที่ได้รับเป็นมรดกสืบทอด

4. ทาสท่านให้ คือ ทาสที่มีผู้ยกให้

5. ทาสที่ได้เนื่องมาจากนายเงินไปช่วยให้ผู้นั้นพ้นโทษปรับ

6. ทาสที่มูลนายเลี้ยงไว้ในยามข้าวยากหมากแพง

7. ทาสเชลย คือ ทาสที่ได้มาจากสงคราม


พระสงฆ์

พระสงฆ์ เป็นกลุ่มสังคมที่มาจากทุกชนชั้นในสังคม มีหน้าที่อบรมสั่งสอนประชาชน เป็นครูผู้สอนหนังสือและวิทยาการต่าง ๆ แก่เด็กผู้ชาย

ด้านศาสนา

(1) การสังคายนาพระไตรปิฎก

พระ ไตรปิฎก คือ คัมภีร์บรรจุพระธรรมคำสั่งสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนา รัชกาลที่ 1 ทรงให้มีการชำระสะสางพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาธาตุ และจารึกลงในใบลาน คัดลอกเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น ปิดทองทั้งปกหน้าและด้านข้าง เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ หรือ ฉบับทองทึบ อัญเชิญประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก หอพระมนเทียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

(2) การกวดขันพระธรรมวินัย

รัชกาล ที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมายสำหรับสงฆ์ขึ้นหลายฉบับ ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สำรวจความประพฤติของพระสงฆ์ เมื่อพบว่าพระสงฆ์รูปใดไม่ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย ก็ให้จับสึกเสีย

(3) การสถาปนาธรรมยุติกนิกาย

ใน สมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ ได้เสด็จออกผนวช ทรงพบว่าคำสอน และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ทางศาสนาพุทธวิบัติไปเป็นอันมาก พระภิกษุก็มิได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน จึงมีพระประสงค์จะสังคายนาคณะสงฆ์เสียใหม่ ทรงตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. 2372 แต่มิได้เลิกคณะสงฆ์เดิม และเรียกคณะสงฆ์เดิมว่า ฝ่ายมหานิกาย

(4) การส่งสมณทูตไปลังกา

ใน สมัยรัชกาลที่ 2 ส่งสมณทูตไปลังกา ทั้งหมด 9 รูป โดยมีพระอาจารย์ดี และพระอาจารย์เทพ เป็นหัวหน้า และได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกา 6 ต้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระสงฆ์เดินทางไปลังกาเพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาตรวจสอบกับของไทย 2 ครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2385 และ พ.ศ. 2387

(5) การสร้างและบูรณะวัดวาอาราม

- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระศรีสรรเพชญสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต วัดนี้จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วัดพระแก้ว

- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ใช้เวลา 12 ปี ถือกันว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ใช้เวลา 16 ปี โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิต และช่างทุกสาขาให้ช่วยกันชำระตำรา และจารึกไว้บนแผ่นศิลาตามเสา และผนังรายรอบบริเวณวัด เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า วัดนี้จึงจัดว่าเป็นวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย

- วัดสุทัศนเทพวราราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีศากยมุนี หรือ พระโต

- วัดอรุณราชวราราม เดิมเรียกวัดแจ้ง รัชกาลที่ 2 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และได้สร้างพระอุโบสถใหม่ วัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหญ่ที่งดงาม และได้ชื่อว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2




ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม


ประเพณี

1. พระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชย์ของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการสมโภชพระราชวังที่เพิ่งสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 1

2. พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสาบานตนของพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดฯ ให้เคารพพระรัตนตรัยก่อนพระเชษฐบิดร

3. พระราชพิธีโสกันต์ คือ ประเพณีตัดผมจุกของพระราชโอรส พระราชธิดา หรือ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง

4. พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินวัดที่พระองค์ทรงแต่งตั้งพระ ราชาคณะไปปกครอง

5. พระราชพิธีจรดพระนังคัลและพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวไทย

6. พระราชพิธีวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชพิธีนี้ขึ้นมาเป็นพิธีหลวงอีกพิธีหนึ่ง

7. พระราชพิธีอาพาธพินาศ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่จะต่อสู้กับโรคอหิวาตกโรค

วรรณกรรม

ราชสำนักจัดว่าเป็นศูนย์กลางของวรรณกรรมและเป็นที่ชุมนุมของกวี

สมัยรัชกาลที่ 1 วรรณคดีที่สำคัญ ได้แก่ รามเกียรติ์ ราชาธิราช และสามก๊ก

สมัย รัชกาลที่ 2 ทรงเป็นกวี พระราชนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด คือ อิเหนา กวีเอกคนสำคัญในสมัยนี้ คือ สุนทรภู่ ผลงานที่เด่นชัดที่สุด คือ เรื่องพระอภัยมณี

สถาปัตยกรรม

แบบ อย่างของสถาปัตยกรรม ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 1 และ รัชกาลที่ 2 ได้เจริญรอยตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาเกือบทั้งหมด ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 นิยมศิลปะการก่อสร้างแบบจีน โดยเฉพาะรูปแบบการสร้างวัด

จิตรกรรม

งาน จิตรกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นจิตรกรรมฝาผนัง และเลียนแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีลักษณะศิลปะแบบจีนเข้ามาปะปนอยู่ด้วย จิตรกรรมที่สำคัญและมีชื่อเสียง ได้แก่ ภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ภาพฝาผนังที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น

การศึกษา

ใน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศูนย์กลางของการศึกษาที่สำคัญมีอยู่ 2 แห่ง คือ วัง และ วัด การเรียนหนังสือภาไทย เดิมยังไม่มีแบบเรียน เพิ่งมีเมื่อหมอบรัดเลย์ พิมพ์หนังสือประถม ก.กา ออกจำหน่าย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่มีโรงเรียนเป็นหลักแหล่ง ต้องไปศึกษาตามสำนักต่าง ๆ การเรียนที่สำคัญอีกแบบหนึ่ง คือ การศึกษาวิชาชีพตามบรรพบุรุษ หรือตามอาชีพที่มีในท้องถิ่นของตน เช่น ช่างทอง ช่างถม เป็นต้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น